allabout japan
allabout japan

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทตโตริที่เชื่อมโยงมาจากตำนานเทพเจ้าญี่ปุ่น “โคจิกิ”

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทตโตริที่เชื่อมโยงมาจากตำนานเทพเจ้าญี่ปุ่น “โคจิกิ”

ทตโตริ (Tottori) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณภูมิภาคชูโกคุ (Chugoku) ค่อนไปทางฝั่งตะวันตกของเกาะหลักในหมู่เกาะญี่ปุ่น ทิศเหนือหันหน้าออกสู่ทะเลญี่ปุ่นซึ่งรวมเนินทรายทตโตริ (Tottori Sand Dunes) เนินทรายงดงามที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล ทิศใต้โอบล้อมไปด้วยภูเขาใหญ่น้อยของภูมิภาคชูโกคุรวมถึงภูเขาไดเซ็น (Mt.Daizen) ที่ขึ้นชื่อ

By ทีมบรรณาธิการ AAJ

จังหวัดทตโตริ มีสถานที่ที่ยังคงให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ยุคนั้นๆ ได้แก่ “ศาลเจ้าฮาคุโตะ” (Hakuto Shrine) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าของกระต่ายซึ่งปรากฏในตำนานเทพเจ้าญี่ปุ่น “โคจิกิ” และโบสถ์นาเงอิเรโด (Nageiredo Hall) ซึ่งเป็นสมบัติชาติที่กล่าวกันว่า เอ็นโนะ โอสึนุ ผู้ก่อตั้งลัทธิชูเก็นโด ใช้พลังเวทมนตร์โยนเข้าไปในหุบเขา

และศาลเจ้าเคียะขุ (Kyaku Shrine) ที่ตั้งโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่งนา ศาลเจ้าแห่งนี้หยั่งรากฝังลึกอยู่ในการใช้ชีวิตของผู้คนสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (Edo) มีการเชิดกิเลนสิงโตซึ่งเป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมที่สามารถรับชมได้แค่ที่นี่ที่เดียวอีกด้วย

โบสถ์นาเงอิเรโด แห่งวัดซัมบุตสึจิ ภูเขามิโตกุ (Mt.Mitoku Sanbutsuji & Nageiredo)

โบสถ์นาเงอิเรโด แห่งวัดซัมบุตสึจิ ภูเขามิโตกุ (Mt.Mitoku Sanbutsuji & Nageiredo)

โบสถ์นาเงอิเรโด (Nageiredo Hall) ถูกเรียกว่าเป็น "สมบัติชาติที่อันตรายที่สุดในญี่ปุ่น" โดยโบสถ์นาเงอิเรโด แห่งวัดซัมบุตสึจิ ภูเขามิโตกุ (Mt.Mitoku Sanbutsuji & Nageiredo) ตั้งอยู่ที่เมืองมิซาสะโจ (Misasacho) ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องออนเซ็นบริเวณตอนกลางของจังหวัดทตโตริ เป็นวัดของนิกายชูเก็นโดที่เอ็นโนะ โอสึนุสร้าง ในปี 706 ชูเก็นโดคือการศรัทธาธรรมชาติบนภูเขา เคารพบูชาในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งขุนเขา ผสมผสานกันระหว่างศาสนาชินโตกับศาสนาพุทธ

ชูเก็นโดมีจุดประสงค์เพื่อจะบำเพ็ญเพียรฝึกฝนอย่างยากลำบากบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ตรัสรู้และเข้าใกล้เขตแดนของเทพกับพระพุทธเจ้า โบสถ์นาเงอิเรโดถูกสร้างขึ้นบนหน้าผาสูงชัน ทนทานต่อลมและหิมะมายาวนานเกินกว่าหนึ่งพันปีจนถึงปัจจุบัน การจะไปถึงโบสถ์นาเงอิเรโดจะต้องเดินทางจากวัดซัมบุตสึจิตรงเชิงเขาภูเขามิโตกุ ปีนขึ้นเขาโดยระหว่างทางมีจุดที่ต้องปีนโซ่ขึ้นไปและมีเส้นทางขึ้นเขาที่ลาดชันด้วย ช่างเป็นสถานที่แห่งการฝึกปฏิบัติอย่างแท้จริง

ศาลเจ้าฮาคุโตะ (Hakuto Shrine)

ศาลเจ้าฮาคุโตะ (Hakuto Shrine)

ศาลเจ้าฮาคุโตะ (Hakuto Shrine) เป็นศาลเจ้าที่เกี่ยวข้องกับ “กระต่ายขาวแห่งอินาบะ” ตำนานเทพเจ้าที่มีแนะนำอยู่ในโคจิกิ เป็นเรื่องราวของกระต่ายขาวที่หลอกฉลามเพื่อจะข้ามไปดินแดนแห่งอินาบะที่อยู่อีกฝั่งของทะเล พอโดนจับโกหกได้ กระต่ายขาวจึงถูกถลกหนังออก ขณะที่กำลังทรมานก็ได้โอคุนินุชิโนะมิโคโตะช่วยเหลือ จึงตอบแทนบุญคุณ ศาลเจ้าฮาคุโตะนี้เป็นที่สถิตของเทพฮาคุโตะชินซึ่งตั้งชื่อตามตำนาน

ศาลเจ้าเคียะขุ (Kyaku Shrine)

ศาลเจ้าเคียะขุ (Kyaku Shrine)

ศาลเจ้าเคียะขุ (Kyaku Shrine) เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน เป็นที่สถิตของเทพโอคุนินุชิโนะมิโคโตะกับเทพสึคุนะฮิโกะนะโนะมิโคโตะ ลักษณะที่ศาลเจ้าตั้งอยู่เป็นทิวป่าเล็กๆ กลมๆ โดดเดี่ยวกลางทุ่งนาทำให้คนในพื้นที่เรียกกันจนชินปากว่า “ศาลเจ้าบร็อคโครี่” และรูปลักษณ์ก็เปลี่ยนไปตามแต่ละฤดู ทั้งยังเป็นจุดถ่ายรูปสวยทุกฤดูกาลที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักอีกด้วย

ระบำเชิดกิเลนสิงโต (KIRIN Lion Dance)

ระบำเชิดกิเลนสิงโต (KIRIN Lion Dance)

ระบำเชิดกิเลนสิงโต (KIRIN Lion Dance) เป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมในภาคตะวันออกของจังหวัดทตโตริที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมรดกของญี่ปุ่นพร้อมกันกับโบสถ์นาเงอิเรโด กิเลนหัวสิงโตเป็นสัตว์ในจินตนาการของจีน เป็นสัตว์อสูรศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลกแห่งความสงบสุขที่จะไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตอื่นมานับตั้งแต่โบราณกาล

ระบำเชิดกิเลนสิงโต เป็นการร่ายรำที่ใช้คนสองคนแต่งกายชุดสีแดงที่สวมติดกับหัวสิงโต ลำตัวกิเลนให้ผู้ใหญ่สองคนเข้าไปอยู่และทำการร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์ โดยการหมุนหัวช้าๆ ทำท่าเหมือนคลานไปบนพื้นบ้าง บิดหัวไปมาบ้าง ทำท่าทางที่เหมือนกับยืดตัวบ้าง และในระบำเชิดกิเลนสิงโตจะมีผู้ดูแลที่เรียกว่า “โชโจ” สวมหน้ากากสีแดงและถือไม้คทาสีแดงคอยนำกิเลนสิงโตให้ร่ายรำไปอย่างชดช้อย

ระบำเชิดกิเลนสิงโต เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงอันเป็นที่รักของผู้คนในท้องถิ่นที่นำพาความสุขมาให้ผู้คนมากมาย รับสืบทอดกันมาประมาณ 150 หมู่บ้าน ทำการแสดงร่ายรำตามศาลเจ้าต่างๆ ในจังหวัดทตโตริตลอดทั้งปี

อ่านต่อตอนก่อนหน้า : หัตถกรรมพื้นบ้านทตโตริมินเง : งานฝีมือที่รับสืบทอดมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ทีมบรรณาธิการ AAJ

พวกเรารักญี่ปุ่นมากๆ และรู้เรื่องราวต่างๆมากมายเกี่ยวกับญี่ปุ่น และยังยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนที่ชื่นชอบญี่ปุ่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นมากขึ้น

allabout-japan.com