หัตถกรรมพื้นบ้านทตโตริมินเง : งานฝีมือที่รับสืบทอดมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ทตโตริ (Tottori) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณภูมิภาคชูโกคุ (Chugoku) ทิศเหนือหันหน้าออกสู่ทะเลญี่ปุ่นซึ่งรวมเนินทรายทตโตริ (Tottori Sand Dunes) เนินทรายงดงามที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล ทิศใต้โอบล้อมไปด้วยภูเขาใหญ่น้อยของภูมิภาคชูโกคุรวมถึงภูเขาไดเซ็น (Mt.Daizen) คุณสามารถสัมผัสความงดงามของฤดูกาลทั้งสี่ในจังหวัดทตโตริได้
By ทีมบรรณาธิการ AAJจังหวัดทตโตริ (Tottori) ที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์นี้ มีประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์และผลิตสินค้าหัตถกรรมมากมายหลายชนิด อาทิ สินค้าประเภทงานไม้ที่ใช้ทรัพยากรจากป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้วัสดุดินและหินคุณภาพเยี่ยม เหล็กที่ใช้แร่เหล็กซึ่งได้มาจากบนภูเขาชูโกคุมาเป็นวัสดุในการสร้างและพัฒนาผลงาน เป็นต้น
นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของงานหัตถกรรมนี้ ก็มีการขับเคลื่อนหัตถศิลป์พื้นบ้านให้เกิดการสร้างและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย งานหัตถศิลป์คืออะไรก็ตามที่มีความงามในเชิงผลงานศิลปะ แม้แต่เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือนิรนามก็เช่นกัน เรียกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตที่พบใน “ความงามของการใช้สอย” ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั้นดินเผา สิ่งทอ งานไม้เคลือบเงา หรืองานโลหะก็ตาม
ผู้สร้างหัตถกรรมทตโตริมินเง โยชิดะ โชยะ (ปี ค.ศ.1898-1972)
โยชิดะ โชยะ (Yoshida Shoya) เป็นนายแพทย์ผู้สร้างหัตถกรรมทตโตริมินเง (Mingei) หรือศิลปะหัตกรรมพื้นบ้าน และเป็นหัวใจสำคัญที่มีอิทธิพลต่อบรรดาผู้สร้างสรรค์ผลงานในปัจจุบัน เขาเกิดที่เมืองทตโตริ จังหวัดทตโตริ นอกจากทำอาชีพหมอแล้วยังเป็นโปรดิวเซอร์ของงานหัตถกรรมมินเง ร่วมมือกับเหล่าช่างฝีมือในจังหวัดสร้างองค์กรขึ้นเพื่อจัดการวางแผนทำสินค้าหัตถกรรม ออกแบบ ผลิตสินค้า กระจายสินค้า จัดจำหน่าย ให้ถึงมือผู้บริโภค
จานเคลือบสีแบ่งครึ่ง อุชิโนะโตยากิ (Ushinotoyaki)
“ทัศนียภาพที่มองจากเตาเผาไต่ระดับโนโบริงามะทำให้ผมรู้สึกยินดี ภาพทิวทัศน์อันเงียบสงบราวกับภาพวาดของเรมบรันต์ปรากฏแก่สายตา” เป็นประโยคที่ถูกบันทึกไว้เมื่อครั้งที่โยชิดะ โชยะไปเยือนโรงงานเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาอุชิโนะโตยากิเป็นครั้งแรกในปี 1931 การทำงานร่วมกันระหว่างเขากับช่างปั้นรุ่นที่ 4 สร้างผลงานชิ้นเอกขึ้นมามากมาย
ผลงานที่มีชื่อเสียงหนึ่งในนั้นคือ “จานเคลือบสีแบ่งครึ่ง” ที่บรรจงแบ่งสีจานเป็นสองสีอย่างละครึ่งโดยเคลือบสีเขียวครึ่งหนึ่งและเคลือบสีดำอีกครึ่งหนึ่ง หลังจากนั้น เบอร์นาร์ด ลีช (Bernard Leach) ช่างปั้นเซรามิกจากประเทศอังกฤษก็มาเสนอดีไซน์ ทำให้สามารถสร้างผลงานสไตล์ตะวันตกได้ อย่างเช่น แก้วกระเบื้องเคลือบ เป็นต้น
มีดโอตสึกะ (Otsuka Hamonokaji)
คุณโอตสึกะ (Otsuka) เป็นช่างตีเหล็กที่ทำมีดโดยการนำเหล็กไปเผาไฟแล้วใช้คีมจับเหล็กที่ร้อนมาตีให้ขึ้นรูปด้วยมือ เหล็กที่เขาใช้ได้มาจากการผลิตเหล็กที่ใช้แร่เหล็กคุณภาพดีจากบนภูเขาชูโกคุ มีดที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นทำให้เข้าใจถึงความคมกริบด้วย “ประสาทสัมผัสทั้งห้า”
อย่างเช่น รู้สึกว่าใบมีดคมตอนตัดเฉือนเข้าไปในวัตถุดิบ และรับรู้ถึงความคมได้ตอนที่เอาวัตถุดิบที่ตัดแล้วเข้าปาก เป็นต้น เขายังคงผลิตมีดที่มีคุณภาพสูงต่อไปโดยการทำด้วยมือทีละขั้นตอน ซึ่งจะทำให้มีดมีความสมดุล ทั้งแข็งแกร่งและคงทนได้อย่างยอดเยี่ยม
ปากกาหมึกซึมฮากาเสะ (HAKASE Fountain Pen)
ปากกาหมึกซึมของ “ฮากาเสะ” เข้ากับคำว่า "Bespoke" ที่แปลว่าทำตามลูกค้าสั่งได้อย่างเหมาะเจาะพอดี เป็นปากกาที่สั่งทำขึ้นตามความต้องการของลูกค้าโดยวิเคราะห์สไตล์การเขียนของผู้ใช้อย่างละเอียดและทำออกมาให้ตรงกับการใช้งานของลูกค้าตั้งแต่แกนไปจนถึงปลายปากกา
เนื่องจากเป็นกระบวนการทำด้วยมือทั้งหมด จึงได้รับความนิยมถึงขนาดที่หากสั่งตอนนี้จะต้องเข้าคิวรออยู่ในรายชื่อถึง 15 เดือนเลยทีเดียว อันที่จริงรายการสั่งซื้อจากต่างประเทศมีมากเกินครึ่ง ปากกาหมึกซึมเป็นเครื่องเขียนที่ไม่ค่อยมีผลิตเพราะปัจจุบันมีการเขียนตัวหนังสือด้วยมือน้อยลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน ปากกาหมึกซึมนี้จึงเป็น “ความงามของการใช้สอย” ที่ใช้ตามปกติในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง
ร้านทาคุมิคัปโป (Takumi Kappoten)
ร้านทาคุมิคัปโป เป็นร้านที่ตกแต่งภายในด้วยเก้าอี้และโต๊ะของงานหัตถกรรมมินเงที่โยชิดะ โชยะเป็นผู้ออกแบบ มีเมนูอาหารมากมายไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นเมืองที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรุงอาหารอย่างเช่นปูมัตสึบะ (Matsuba Crab) และหอยนางรมอิวางากิ (Iwagaki Oyster)
หรือเมนู “หม้อไฟชาบูเนื้อวัว” (ต้นตำรับของชาบูชาบู) ที่คิดค้นขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจาก “หม้อไฟ (ซ่วนหยางโย่ว)” ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมนูนี้เป็นเมนูอาหารยอดนิยม ทาคุมิคัปโปเป็นร้านอาหารที่สามารถสนุกกับการรับประทานไปพร้อมกับภาชนะที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหรือที่เรียกกันว่ามินเง (Mingei) ตามที่ได้กล่าวไปในตอนแรกนั่นเอง
อ่านต่อตอนถัดไป : ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทตโตริที่เชื่อมโยงมาจากตำนานเทพเจ้าญี่ปุ่น “โคจิกิ”