ต้อนรับปีเสือ 2022! รวมวัดและศาลเจ้าเสือสุดปัง
ในที่สุดปีนี้ก็เข้าสู่ปีใหม่ 2022 กันแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับปีนักษัตรเสือ ที่ญี่ปุ่นก็มีวัดและศาลเจ้าที่เกี่ยวข้องกับเสืออยู่หลายแห่ง คนญี่ปุ้นก็นิยมไปไหว้รับปีใหม่ตามวัดและศาลเจ้าเพื่อความเป็นศิริมงคล และคนญี่ปุ่นมากมายก็อยากที่จะไปยังสถานที่ที่มีสัญลักษณ์เสือต้อนรับปีเสือที่มาถึง เราจึงจะพาไปแนะนำวัดและศาลเจ้าที่เกี่ยวข้องกับเสือ
ปีเสือประจำปี 2022 และความเชื่อในแบบญี่ปุ่น
เสือเป็นหนึ่งในสัตว์ 12 ราศี คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าเสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจที่สุดในบรรดาสัตว์บกทั้งมวล และยกให้เสือเป็นตัวแทนของพลังอำนาจ ความกล้าหาญ ความแข็งแกร่งทั้งภายในและภายนอก และอายุที่ยืนยาว
ยังมีเสือที่ผูกพันกับคนญี่ปุ่นมานาน เป็นหนึ่งในสี่ผู้พิทักษ์แห่งสวรรค์ ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า "เบี๊ยกโกะ" (Byakko) ซึ่งเป็นสัตว์เทพแห่งทิศตะวันตก มีอิทธิฤทธิ์ปกป้องและคุ้มครอง คอยขับไล่ปีศาจ เบี๊ยกโกะเป็นเสมือนตัวแทนแห่งคุณธรรมและความชอบธรรม กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดมากจากประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลมาในศตวรรษที่ 7 จากนั้นก็เกิดการสร้างสรรค์ผลงานและภาพวาดเบี๊ยกโกะขึ้นมากมายเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อดังที่กล่าวไป ตามวัดและศาลเจ้าหลายแห่งจึงมีภาพ เครื่องราง และเซียมซีเสี่ยงโชคที่ทำเป็นรูปเบี๊ยกโกะด้วย
วัดและศาลเจ้าที่เกี่ยวข้องกับเสือหลายแห่งก็มีความเกี่ยวข้องกับ "เทพบิฉะมงเท็น" (Bishamonten) หรือท้าวเวสสุวรรณของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพเจ้าแห่งการรบชนะ ปราบปีศาจร้ายให้สิ้นซาก และเป็นเทพแห่งโชคลาภ ผู้คนนิยมมาขอพรในเรื่องของโชคและเงินทอง ความเกี่ยวข้องกับเสือนั้นมีคำกล่าวว่า เมื่อทำการอธิษฐานให้ได้รับชัยชนะในการรบ เทพบิฉะมงเท็นก็ได้ปรากฏตัวบนท้องฟ้าในวันเสือและปีเสือตามปฏิทินจีน ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลมาเช่นกัน
วัดโชโงะซนชิจิ (Chogosonshi-ji Temple)
ถ้าพูดถึงวัดในญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับเสือ วัดโชโงะซนชิจิ (Chogosonshi-ji Temple) จะเป็นวัดแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึง วัดโชโงะซนชิจิตั้งอยู่บริเวณเนินเขาภูเขาชิกิ (Mount Shigi) เมืองเฮงุริ (Heguri) จังหวัดนารา (Nara) มีสัญลักษณ์เป็นรูปปั้นเสือโคร่งตัวใหญ่สูงประมาณ 3 เมตรและยาวประมาณ 6 เมตรตั้งเด่นตระหง่านอยู่ตรงทางเข้า
เมื่อเห็นก็สามารถอธิษฐานขอให้ดวงเปิด มีโชคมีลาภในปีเสือนี้ได้ และยังมีรูปปั้นเสือเทพพิทักษ์ที่เรียกว่าอะอุน โดย "อะ" เป็นเสือสีทองที่อ้าปาก ส่วน "อุน" เป็นเสือสีเงินที่ปิดปากอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในบริเวณของวัด สำหรับเครื่องรางที่ควรซื้อไว้พกติดตัวก็อย่าพลาดเครื่องรางเสือขยับหัว เมื่อคอเสือขยับหมุนก็หมายถึงไม่ว่าจะทำอะไรก็สำเร็จราบรื่นไม่มีติดขัด
การเดินทาง : จากโอซาก้าขึ้นรถไฟสายนารา (Nara Line) มาลงสถานีอิโคมะ (Ikoma Station) จากนั้นขึ้นรถไฟสายอิโคมะ (Ikoma Line) ลงสถานีเฮงุริ (Heguri Station) แล้วต่อรถบัสหรือรถแท็กซี่ไปอีกประมาณ 15 - 20 นาที
ศาลเจ้าคาโตะ (Kato Shrine)
ศาลเจ้าคาโตะ เป็นศาลเจ้าชินโตเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์และขึ้นชื่อในการขอพรเรื่องชัยชนะ การเรียน การงาน และการทำกำไรจากการค้าขาย ตั้งอยู่ใกล้กับหอคอยของปราสาทคุมาโมโตะ (Kumamoto Castle) ในจังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) ที่ศาลเจ้าคาโตะนี้มีจุดลอดเสือศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในบริเวณศาลเจ้า เป็นลักษณะภาพวาดใบหน้าของเสืออ้าปากืำด้วยไม้ มีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตรและยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ตรงส่วนที่เป็นปากเสือนั้นทำเป็นช่องไว้สำหรับให้ผู้มาเยือนลอดเข้าไป มีความเชื่อกันว่าหากได้ลอดปากเสือแล้วจะได้รับพรให้ช่วยในเรื่องขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากตัว
การเดินทาง : จากสถานีฮากาตะ (Hakata Station) ขึ้นชินคังเซ็นมาลงสถานีคุมาโมโตะ (Kumamoto Station) จากนั้นนั่งรถรางสาย A หรือ B ลงสถานีคุมาโมโตะ ชิยาคุโชะ (Kumamotojo-Shiyakusho-Mae Station) แล้วเดินต่อไปอีกไม่ไกล
ศาลเจ้ามัตสึโอะ ไทฉะ (Matsuo-Taisha Shrine)
ศาลเจ้ามัตสึโอะ ไทฉะ เป็นศาลเจ้าที่มีประวัติเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่ในเขตนิชิเคียว (Nishikyo) ทางทิศตะวันตกของถนนชินโจโดริ (Shijo-dori) ในจังหวัดเกียวโต (Kyoto) ซึ่งเป็นที่สถิตของเบี๊ยกโกะ (Byakko) พยัคฆ์ขาวที่คอยปกป้องคุ้มครองทิศตะวันตก ในซาลเจ้ามีแผ่นไม้เอมะที่ไว้ใช้เขียนขอพรขนาดใหญ่วาดเป็นรูปเสือขาวเพื่อให้เป็นที่รู้ว่าเทพพยัคฆ์ขาวสถิตอยู่ที่นี่
นอกจากนี้ยังมีวัตถุมงคลที่ทำเป็นรูปเสือขาวหลายอย่างทั้งตุ๊กตาตั้งโต๊ะเสือขาว เครื่องรางเสือขาว กระดิ่งเสือขาว และที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเซียมซีเสือขาวสุดน่ารัก นอกจากวัตถุมงคลยอดฮิตแล้วก็ยังมีตราประทับลายเสือขาวและแมสก์ลายเสือขาวสำหรับใส่ป้องกันเชื่อโควิดจำหน่ายเข้ากับกระแสในยุคปัจจุบันอีกด้วย
การเดินทาง : ขึ้นรถไฟสายฮันคิว อาราชิยามะ (Hankyu Arashiyama Line) ไปลงสถานีมัตสึโอะไทฉะ (Matsuo-Taisha Station) แล้วเดินเท้าต่อไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อีกประมาณ 4 นาที
วัดทามงอิน (Tamonin Temple)
วัดทามงอิน เมืองโทโคโรซาวะ (Tokorozawa) จังหวัดไซตามะ (Saitama) ได้ชื่อว่าเป็นวัดแห่งดอกโบตั๋น เนื่องจากปลูกดอกโบตั๋นไว้กว่า 300 ต้น ยามออกดอกก็ให้สีสันสดใสทั้งสีออกแดง สีบานเส็น สีเหลือง บานสะพรั่งช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม วัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับเทพบิฉะมงเท็น (Bishamonten) ที่มีความเชื่อว่ามีร่างแปลงเป็นเสือ
ที่วัดนี้จึงมีรูปปั้นเสือ และมีไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้คือเสือปั้นตัวเล็กๆ ที่เรียกว่า "มิงาวาริโทระ" (Migawaritora) ซึ่งแปลได้ว่าเสือที่เป็นตัวตายตัวแทน โดยอธิษฐานขอพรจากเทพบิฉะมงเท็นที่อยู่ในร่างเสือน้อยนี้ให้ช่วยขจัดเหตุเภทภัยและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ออกไปจากตัวฝากไปกับมิงาวาริโทระ แล้วทำไปวางไว้ตรงที่ที่วัดจัดให้ แล้วก็จะได้มีแต่โชคดีไปตลอดปี
การเดินทาง : ขึ้นรถไฟสายเซบุ ชินจูกุ (Seibu Shinjuku Line) ไปลงสถานีคูโคโคเอ็น (Kukoukoen Station) จากนั้นต่อรถบัสโทโคโระของเมืองโทโคโรซาวะ สายโทมิโอกะจุนคัง (Tomioka Jyunkan) ลงป้ายทามงอินโดรินิชิ (Tamonindorinishi Bus Stop) แล้วเดินต่อไปอีกประมาณ 6 นาที
ศาลเจ้าโคชิเอ็น สุซาโนะ (Koshien Susano Shrine)
ศาลเจ้าโคชิเอ็น สุซาโนะ ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเบสบอลฮันชิน โคชิเอ็น (Hanshin Koshien Stadium) เมืองนิชิโนมิยะ (Nishinomiya) จังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) มีชื่อเรียกซึ่งเป็นที่รู้จักกันของบรรดานักเบสบอลและแฟนคลับทีมฮันชิน ไทเกอร์สว่าศาลเจ้าโคชิเอ็น (Koshien Shrine) กับศาลเจ้าเสือ (Tigers Shrine) ที่เรียกกันอย่างนี้ก็เพราะว่าชื่อและสัญลักษณ์ของทีมฮันชิน ไทเกอร์ส (Hanshin Tigers) เป็นเสือนั่นเอง
จุดเด่นของที่นี่คือเซียมซีรูปเสือโคร่งที่ทำเป็นลักษณะของแมวกวัก (Manekineko) ดังนั้นเซียมซีของศาลเจ้าโคชิเอ็น สุซาโนะจึงเป็นเซียมซีเสือกวัก (Manekitora) ลำตัวสีเหลืองมีลายพาดกลอนสีดำ ใบหูสีแดง ที่คอห้อยกระพรวน ทำท่ากวักเรียกโชคลาภให้เข้ามา
การเดินทาง : จากโอซาก้า ขึ้นรถไฟสายหลักฮันชิน (Hanshin Main Line) ไปลงสถานีโคชิเอ็น (Koshien Station) แล้วเดินต่อไปอีกประมาณ 9 นาที
ผู้เขียน: hikawasa
หลังจากจบป.ตรีก็เริ่มงานในสายล่ามที่บริษัทญี่ปุ่นเช่น Satake Thailand, Hitachi Engineering & Services และรับงานล่ามให้นิตยสาร Custom Car ไปล่ามให้ตามงาน Motor Expo สักพักออกไปเรียนป.โทต่อที่ธรรมศาสตร์ ตอนทำวิทยานิพนธ์ ทาง Japan Foundation ให้ทุนนักศึกษาไปเก็บข้อมูลวิจัย ได้เห็นญี่ปุ่นในหลายมุม ปัจจุบันเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ให้ Bongkoch Publishing, Siam Inter Multimedia Publishing, MEB Corporation ที่ทำสื่อดิจิทัลอีบุ๊คชั้นแนวหน้าของไทย และอีกมากมาย ได้โอกาสมาเป็นนักเขียนบทความท่องเที่ยวให้ AAJ ด้วย